ครรภ์เป็นพิษ อันตราย เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนทั้งแม่และลูก

 
 
 

ครรภ์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก ซึ่งโดยธรรมชาติรกจะฝังบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีที่แม่ครรภ์เป็นพิษรกจะฝังตัวได้ไม่แน่น ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลงจะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น เส้นเลือดสมองตีบ ตาพร่ามัว ตับวาย ฯลฯ ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากร้ายแรงถึงขั้นมีอาการชักร่วมด้วย อาจมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก

ภาวะครรภ์เป็นพิษมีอาการอย่างไร

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยมีอาการ แต่เมื่อมาฝากครรภ์จะพบว่ามีความดันโลหิตสูงขึ้นในผู้ที่มีอาการรุนแรงก็จะเกิดอาการปวดหัว ตาพร่า จุกแน่นลิ้นปี่ มีบวมที่แขนหรือขา ซึ่งหลังจากตรวจวัดความดันแล้ว จะตรวจปัสสาวะเพื่อให้ทราบว่ามีโปรตีนรั่วในปัสสาวะเกินกว่าค่าปกติหรือไม่ อีกทั้งยังจะเจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับหรือไต ค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือด ว่ามีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร ด้วยเหตุที่ภาวะต่างๆ เหล่านี้มีความสัมพันธ์อันอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอาจเกิดกับผู้ป่วย เช่น อาการชัก น้ำท่วมปอด ทำให้หายใจลำบาก ปัสสาวะไม่ออก ไตวายเฉียบพลัน ตับอักเสบ ลูกในครรภ์อาจเกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ และเสียชีวิต รกลอกตัวก่อนกำหนด..มีตกเลือดก่อนคลอดหรือหลังคลอด... ซึ่งต้องเฝ้าระวังด้วยการหมั่นสังเกตว่ามีอาการหน้าบวม...แขนขาบวม...ปัสสาวะเป็นฟอง หรือเกิดอาการปวดหัวตาพร่าขึ้นมาหรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าว..อย่ารอ ต้องรีบไปหาคุณหมอโดยเร็วที่สุด

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

  • ผู้ที่มีโรคอ้วน เส้นเลือดไม่ค่อยดี มีโอกาสตีบได้ง่าย

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์แล้วมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

  • ผู้ที่มีกรรมพันธุ์หรือคนในครอบครัวมีครรภ์เป็นพิษ

  • ผู้ที่มีบุตรยาก

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์เด็กมากกว่า 1 คน

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น  เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไต ไทรอยด์ แพ้ภูมิตนเอง (SLE) ฯลฯ

ภาวะครรภ์เป็นพิษป้องกันอย่างไร

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษในครรภ์นี้หรือไม่ โดยสามารถตรวจโดยดูว่าเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกมีความต้านทานของเส้นเลือดหรือไม่ รวมทั้งเจาะเลือดบางตัว เช่น placental growth factor และ pregnancy associated plasma protein A (PAPP-A) เพื่อดูว่าเส้นเลือดในรกเจริญฝังตัวในมดลูกดีหรือเปล่าก็จะช่วยให้สามารถทำนายโอกาสเสี่ยงในการเกิดครรภ์เป็นพิษได้...และอาจพิจารณาให้ยาแอสไพรินในขนาดต่ำๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดครรภ์เป็นพิษและภาวะแทรกซ้อน