นอนหลับอย่างไรให้ได้คุณภาพ

 
 
 

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละคืนช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพดี โดยท่านอนที่เหมาะสมก็มีส่วนช่วยให้หลับสบายมากขึ้น เมื่อได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ร่างกายจะตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นสบายตัว จิตใจสดชื่นเบิกบาน ส่วนท่านอนบางท่าก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้น การเลือกท่านอนที่ถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการนอนอย่างเต็มที่และมีพลังสำหรับเริ่มต้นเช้าวันใหม่เสมอ

ท่านอนแต่ละท่าล้วนมีลักษณะการนอนที่ส่งผลแตกต่างกันออกไป และแต่ละคนก็มีท่านอนที่ชอบแตกต่างกัน จึงควรเลือกท่านอนที่เหมาะสมกับสรีระและสุขภาพของตนมากที่สุด เพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพในการนอน 

โดยเด็กและผู้ที่มีสุขภาพดีอาจนอนในท่าที่ตนเองถนัดได้ เพื่อให้นอนหลับสบายตัวตลอดคืน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ผู้ที่มีริ้วรอยบนใบหน้า ปวดคอและหลัง มักตื่นนอนขึ้นมาตอนกลางดึก นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ควรเลือกท่านอนที่เหมาะสมแก่ตนเองโดยศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละท่าให้ดีก่อน เพื่อรักษาสุขภาพและช่วยบรรเทาอาการป่วยต่าง ๆ ให้ทุเลาลงได้

ผู้ที่นอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งทำให้นอนหลับไม่สนิทและทำให้คุณภาพของการนอนไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงท่านอนหงายเพราะอาจทำให้อาการแย่ลง รวมทั้งท่านอนหงายอาจทำให้หลอดเลือดแดงแคโรติดอาเทอรีที่ไปเลี้ยงสมอง คอ และใบหน้าอุดตันได้ด้วย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจจึงควรเลือกท่านอนตะแคงแทน แต่หากถนัดนอนในท่านี้ ควรใช้หมอนหรือม้วนผ้ารองใต้เข่าเพื่อลดอาการปวดหลังที่อาจเกิดขึ้นได้ หรืออาจขอคำแนะนำจากแพทย์เพิ่มเติม

การนอนต้องคำนึง 2 อย่างคือ

  1. ชั่วโมงการนอน ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบควรนอนให้ได้ 7 – 8 ชั่วโมง แต่ละวัยต้องการจำนวนการนอนจะไม่เท่ากัน ชั่วโมงการนอนของเด็ก 11 – 13 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ 7 – 8 ชั่วโมง

  2. คุณภาพการหลับ การหลับอย่างมีคุณภาพ คือ ครบวงจรทุกระยะการหลับ ทั้งหลับตื้น หลับลึก และหลับฝัน ให้ครบทุกระยะเพราะมีความสัมพันธ์กัน

วงจรการหลับ 3 ระยะ

วงจรการนอนหลับในคนปกติทั่วไป มักใช้เวลาตั้งแต่ 30 วินาที – 7 นาที เป็นสภาพที่แม้จะได้รับการกระตุ้นเพียงเล็กน้อยก็จะตื่น จากนั้นเข้าสู่การหลับระยะต่าง ๆ

  • หลับตื้น เป็นระยะแรกที่มีการหลับตื้นอย่างแท้จริง แต่ยังไม่มีการฝัน

  • หลับลึก ร่างกายจะเข้าสู่โหมดพักผ่อนเมื่อเข้าสู่ระยะหลับลึกเป็นช่วงหลับสนิทที่สุดของการนอนใช้เวลา 30 – 60 นาที ช่วงระยะนี้อุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตจะลดลง อัตราการเต้นของหัวใจลดลงเหลือประมาณ 60 ครั้งต่อนาที โกรทฮอร์โมนจะหลั่งในระยะนี้

  • หลับฝันอีกระยะหนึ่งที่สำคัญคือ ช่วงหลับฝันร่างกายจะได้พักผ่อน แต่สมองจะยังตื่นตัวอยู่ นอกจากนี้การหลับฝันยังช่วยจัดระบบความจำในเรื่องของทักษะต่าง ๆ ดังนั้น การนอนหลับที่ดีต้องได้ทั้งชั่วโมงการนอนและคุณภาพการหลับด้วย

ฉะนั้นการนอนหลับที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาแค่จำนวน 7 – 8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับระดับความลึกของการนอนหลับ เพื่อให้ร่างกายและสมองได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และเวลาเข้านอน – ตื่นนอนที่เหมาะสม ไม่ควรนอนดึกหรือตื่นสายจนเกินไป