โรคลมชักในเด็ก อาการที่ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่ทำให้เกิดอาการชักซ้ำ ๆ โดยไม่ได้เกิดจากสาเหตุกระตุ้น เช่น ไข้สูง หรือ การบาดเจ็บที่ศีรษะในทันทีสำหรับในเด็กการมีอาการชักเกิดขึ้นได้หลายลักษณะและสาเหตุ อาจส่งผลต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กได้ คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจเพื่อให้สามารถรับมือ ดูแล และป้องกันไม่ให้อาการของลูกแย่ลง
อาการที่ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
อาการชัก นานเกิน 5 นาที
เด็กไม่รู้สึกตัว หลังจากชักหยุดไปแล้ว
มีอาการชักติดต่อกันหลายครั้ง โดยไม่ฟื้น
เด็กหายใจลำบาก ตัวเขียว หรือหมดสติไม่ตอบสนอง
เป็นอาการชักครั้งแรก ซึ่งไม่เคยมีประวัติมาก่อน
เด็กได้รับบาดเจ็บ ระหว่างชัก เช่น ศีรษะกระแทก พบรอยฟกช้ำ หรือมีกระดูกผิดรูป
การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กปลอดภัย และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากอาการชักได้อย่างมาก ควรฝึกและเตรียมความพร้อมไว้เสมอ โดยเฉพาะผู้ปกครองและครูผู้ดูแลเด็ก
การวินิจฉัยโรคลมชัก
การวินิจฉัยโรคลมชักต้องอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด คุณหมอจะสอบถามลักษณะอาการชักเริ่มจากส่วนใดของร่างกาย ระยะเวลา ความถี่ มีการหมดสติหรือไม่ ระหว่างชักมีการเคลื่อนไหวแบบใด รวมถึงสอบถามถึงปัจจัยกระตุ้น พร้อมตรวจร่างกายทั่วไป
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram: EEG)
ใช้ตรวจหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง ซึ่งช่วยแยกชนิดของโรคลมชักเพื่อตรวจจับความผิดปกติของคลื่นสมองที่อาจเกิดขึ้นระหว่างหรือหลังชัก อาจมีการกระตุ้นด้วยแสงกะพริบ หรือให้หายใจเร็ว เพื่อกระตุ้นให้คลื่นผิดปกติปรากฏการตรวจภาพสมองด้วย MRI หรือ CT scan
ตรวจดูโครงสร้างสมองเพื่อค้นหาความผิดปกติ เช่น เนื้องอก พังผืด รอยแผล หรือความผิดปกติแต่กำเนิด MRI มักให้ภาพที่ละเอียดกว่า เหมาะสำหรับเด็กที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของสมองการตรวจอื่น ๆ
อาจเจาะเลือดหรือตรวจอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น การติดเชื้อ หรือความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด
การแยกโรคลมชักออกจากภาวะอื่น เช่น ลมบ้าหมูหลอก (Pseudoseizure), การสะดุ้ง หรืออาการทางจิตเวชบางชนิด ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยาในเด็กในการประเมิน
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท